DEVILFREEDOM

น้องใหม่...หัดทำBlogจร้า

วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของเราชาวชัยภูมิ

หัตถกรรมช่างฝีมือ ที่มีลักษณะเด่นของจังหวัดชัยภูมิได้แก่

         ผ้าไหมบ้านเขว้า เป็นงานหัตถกรรมในครัวเรือนที่สืบทอดเทคนิคต่าง ๆ ในการผลิตสืบต่อกันมา เอกลักษณ์เฉพาะลายผา ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมพื้น ไหมมัดหมี่ หรือไหมขิด จะเป็นลายดั้งเดิมที่สั่งสมกันมา ซึ่งก็คล้ายกับลายทั่ว ๆ ไปในผ้าทออีสาน แตกต่างกันที่ความประณีตในการทอ ปัจจุบันมีการประยุกต์ลาย และการใช้เทคนิคการย้อมลายผ้า ให้เกิดความหลากหลาย และซับซ้อนกว่าเดิม


ผ้าฝ้ายมัดหมี่คอนสวรรค์ ลวดลายผ้าในการทอผ้าฝ้ายมัดหมี่ก็คล้ายกับลายผ้าไหมมัดหมี่ มีลายผ้าที่บเสมอ ดังนี้


ประเภทเลียนแบบสัตว์ มีลายผ้าที่เรียกชื่อตามรูปร่างของสัตว์คือ แมงงอด (แมงป่อง) ไก่ นาคเกี้ยว นาคอุ้มหน่วย นาคชูกาบหลวง ม้า สิงห์ (สิงโต) ตะขาบ รังผึ้ง หมี่ แมงมุม (ขิตแมงมุม) หมี่คน (ขิดคน) หมี่ช้าง หมี่นก นกคู่ หมี่หางกระรอก หมี่อึ่ง


ประเภทเลียนแบบพืช ได้แก่ หมี่ดอกสร้อย หมี่เหลี่ยมอ้อย หมี่กาบหลวง หมี่กาบหลวงลายกูด หมี่ดอกตุ้ม หมี่ดอกพิกุล หมี่ดอกจัน (สี่ดอกสี่ใบ) หมี่ดอกกุหลาบ หมี่ก้านแย่งประจำยาม หมี่ต้นสน หมี่หมากเป็ง หมี่กาบอ้อย หมี่ตัวตอก หมี่ตำลึง หมี่ดอกพวง หมี่ดอกแก้ว หมี่ดอกขิด (ดอกขจร) หมี่ข้ออ้อย หมี่หมากจับ (ตุ้มมะจับ) หมี่ใบไผ่ หมี่กาบมะลิ หมี่กาบกล้วย


ประเภทเลีบนแบบสิ่งประดิษฐ์ ได้แก่ หมี่สามไม้ใหญ่ หมี่สองไม้ หมี่เทียน หมี่โคมเจ็ด หมี่ขอเครือ หมี่ตะเภาหลงเกาะ หมี่บุษบก หมี่โคมห้า หมี่พุ่มทรงข้าวบิณฑ์ หมี่กุญแจ หมี่ขาเปีย หมี่กาบใหญ่ หมี่ธรรมาสน์ หมี่ลูกโซ่ หมี่กาบขันหมากเบ็ง หมี่ขอนาค หมี่ปราสาท หมี่โคมเก้า หมี่ขอพลั่ว


ประเภทเบ็ดเตล็ด ได้แก่ หมี่ขิดตา หมี่หวาย หมี่ราย หมี่ลายผสม หมี่ฟองน้ำ หมี่โบคว่ำโบหงาย หมี่ข้อตรง หมี่กงน้อย หมี่น้อยห้า หมี่กงน้อยเจ็ด หมี่เชิง หมี่ลายเผ่า หมี่อัมปรม




ผ้าขิดบ้านโนนเสลา เป็นผ้าลายขิดที่ขึ้นชื่อของชัยภูมิ มีชื่อเรียกกันได้แก่ ลายหน่วย ลายดอก ลายขอ หรือบิดขอ ลายกาบ ลายผสม และลายธรรมชาติ เป็นต้น




หม้อดินบ้านเมืองน้อย อยู่ที่บ้านเมืองน้อย ตำบลในเมือง เป็นชุมชนที่มีการสืบทอดการปั้นหม้อตามแบบโบราณ ทำมาประมาณ ๑๕๐ ปีแล้ว ลักษณะลวดลายเป็นลายเชือก แบบดั้งเดิม เป็นหม้อดินคุณภาพดี ทนความร้อนสูง ไม่แตกง่าย ฝีมือการปั้นประณีต


ศิลปกรรม ที่จัดว่าเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่


การรำชัยภูมิ เป็นการรำในขบวนต้อนรับเจ้าเมือง หรือแขกบ้านแขกเมืองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จะเห็นได้จากบทกลอนการแสดงฟ้อนรำ ต้อนรับขบวนเจ้าพ่อพระยาแล ที่กลับจากการปักปันเขตแดนกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ในตำนานเจ้าพ่อ ดังนี้


.......... กลับถึงเมือง แม่เจ้า ท้าวบุญมี แต่งบายศรี เจ็ดชั้น งามสง่า

สู่ขวัญให้ ผู้ที่ไป ได้กลับมา สนุกเฮฮา ฟ้อนนำ รำชัยภูมิ

เปาผึ่มเป๊ะ เป๊ะผึ่มเป๊ะ เสียงกลองดัง ตีกรับฟัง จังหวะเคียง เสียงสดใส



ใช้กลองเส็ง ล้มลงเดาะ เตาะกันไป เสียงดังไกล หนึ่งว่า พญาเดิน
การรำชัยภูมิจะมีจังหวะที่กระชับสนุกสนาน ตามแบบการรำเซิ้งของชาวอีสานทั่วไป และยังเป็นเอกลักษณ์ของการรำ ในขบวนพิธีต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน


การเส็งกลอง การรำชัยภูมิแต่เดิมนั้น ใช้กลองเส็งเป็นเครื่องให้ดนตรี จึงทำให้กลองเส็งเป็นศิลปะการแสดงเก่าแก่ของชาวชัยภูมิ เช่นเดียวกับการรำชัยภูมิ


การเส็งกลอง คือ การแข่งขันตีกลอง แต่เดิมให้กติกาง่าย ๆ คือ ใช้ขัน หรือกะลามะพร้าววางบนผิวน้ำ ที่มีขนาดใหญ่ ผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายจะอยู่คนละข้าง ของภาชนะที่ใส่น้ำ ในระยะห่างเท่า ๆ กัน จากนั้นจะเริ่มตีกลองพร้อมกัน เมื่อคลื่นเสียงกระทบผิวน้ำ ฝ่ายไหนเสียงกลองดังมากกว่ากัน จะดันภาชนะเหนือผิวน้ำ ไปยังฝ่ายตรงข้าม เมื่อขันหรือกะลามะพร้าวอยู่ใกล้ฝ่ายใดมากที่สุด ในเวลาที่กำหนด ฝ่ายนั้นเป็นผู้แพ้




ลำเกี้ยวกระดูกแตก เป็นลักษณะการลำกลอนเกี้ยวพาราสี ซึ่งเชื่อว่า เป็นต้นฉบับเฉพาะของหมอลำ เมืองชัยภูมิ


ขนบธรรมเนียมประเพณี งานประเพณีใหญ่ระดับจังหวัด ได้แก่


งานบุญเดือนหก เป็นงานประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อพระยาแล ณ บริเวณศาลหนองปลาเฒ่า จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒ - ๒๐ พฤษภาคม ของทุกปี จะมีขบวนพิธีการรำถวายเจ้าพ่อตามพิธีดั้งเดิม ณ ศาลเจ้าพ่อหลังเดิม


งานประเพณีฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒ - ๒๐ มกราคม ของทุกปี ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด และบริเวณอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล


การจัดงานประกอบด้วย พิธีบวงสรวงดวงวิญญาณ เจ้าพ่อพระยาแล ขบวนแห่สักการะอนุสาวรีย์เจ้าพ่อ ฯ ขบวนถวายช้างแด่เจ้าพ่อ ฯ และขบวนแห่ของอำเภอต่าง ๆ รวมทั้งการออกร้านจัดนิทรรศการของหน่วยราชการ และเอกชน เริ่มจัดงานครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐


ประเพณีบูชาเจ้าพ่อองค์ตื้อ เป็นพิธีที่มีคณะลำผีฟ้า ลำส่องไปบวงสรวง เป็นกลุ่ม ๆ ที่ภูพระ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์ตื้อ ในตำบลนาเสียว อำเภอเมือง ฯ การบวงสรวงจะมีขึ้นระหว่างวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือนเมษายน ของทุกปี และอีกสองวันคือ วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา มีประชาชนในจังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดใกล้เคียง มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก


ขอบคุณสำหรับที่มาดูภาพแล้ว เก่ามากๆคะ : http://www.hotsia.com/thailandinfo/oldcity/chaiyaphum15.shtml

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แชร์ความคิดเห็นกันนะคะ ^ ^

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น