ไม้กลายเป็นหิน
ความสำคัญ กำเนิด การกระจายและการอนุรักษ์
โดย : ประเทือง จินตสกุล
1. บทนำ
แหล่งซากดึกดำบรรพ์ (Fossil) ไม้กลายเป็นหิน (Petrified Wood) ที่มีชื่อเสียงของโลกและถูกจัดให้อยู่ในทำเนียบสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ 1 ใน 13 แห่งของซีกโลกตะวันตก คือ อุทยานแห่งชาติป่าไม้กลายเป็นหิน (Petrified Forest National Park) ในรัฐอริโซนา ประเทศสหรัฐ อเมริกา (Grigson, 1992) แหล่งนี้ได้รับการอนุรักษ์มานานกว่า 90 ปี นอกจากนั้น แหล่งไม้กลายเป็นหินในประเทศนี้ที่มีอยู่อีกมากกว่าสิบรัฐ ต่างล้วนได้รับการดูแลจากรัฐหรือเมืองเป็นอย่างดี ทั้งในรูปอุทยานแห่งชาติ อุทยาน สวนสาธารณะ หรือ พิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างของการอนุรักษ์
ภาพ 1 อุทยานแห่งชาติป่าไม้กลายเป็นหิน (Petrified Forest National Park) รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา (Hamblin, 1992)
เช่น Ginkgo Petrified Forest State Park รัฐวอชิงตัน Petrified Forest Park รัฐแคลิฟอร์เนีย The Buried Fossil Forests รัฐไวโอมิง Petrified Forest รัฐเซาท์ ดาโกตา Museum of Petrified Wood รัฐนิวยอร์ค เป็นต้น
ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหินที่มีปริมาณมาก เป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย สถานการณ์กลับตรงกันข้าม กล่าวคือ ไม่มีมาตรการอนุรักษ์ที่ชัดเจนแต่อย่างใด แหล่งไม้กลายเป็นหินที่มีปริมาณมากที่สุดของประเทศในจังหวัดนครราชสีมา หรือรองลงไปในจังหวัดขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ฯลฯ จึงขาดการเหลียวแล และถูกมองเหมือนหินประดับธรรมดาทั่วไป ขณะที่เอกชนบางรายได้ให้ความสำคัญมากกว่า จึงมีทั้งที่เก็บไว้ครอบครองเพราะเห็นเป็นของแปลก ของเก่า และ บางรายรวบรวมไว้เพื่อขายทั้งภายในและต่างประเทศ ดังนั้น ตลอดเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ไม้กลายเป็นหินท่อนใหญ่ ๆ จึงถูกนำออกไปจากพื้นที่นับเป็นพันท่อน ปัจจุบันซากดึกดำบรรพ์พืชโลกล้านปีนี้ในประเทศไทย จึงอยู่ในสภาพวิกฤติ และยังถูกทำลายต่อไปอีกอย่างน่าเสียดายยิ่ง
2. ความหมายของคำว่า "ไม้กลายเป็นหิน " และ "Petrified "
คำว่า "ไม้กลายเป็นหิน" ตามพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ไม่ได้บัญญัติมาจากคำ ศัพท์กลาง ๆ จาก "Petrified Wood" แต่มาจากคำศัพท์ค่อนข้างจำเพาะ คือ "Silicified Wood" ซึ่งหมายถึง ไม้กลายเป็นหินที่เกิดจากสารละลายซิลิกาเข้าไปแทนที่เนื้อไม้อย่างช้า ๆ คือ แทนที่โมเลกุลต่อโมเลกุล จนกระทั่งแทนที่ทั้งหมด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้าง ปกติ ซิลิกาในเนื้อไม้นี้จะอยู่ในรูปของโอปอหรือคาลซิโดนี (Chalcedony) (คณะอนุกรรมการจัดทำพจนานุกรมธรณีวิทยา, 2530) เห็นได้ว่า ความหมายข้างต้นน่าจะเป็นความหมายของคำว่า " ไม้กลายเป็นหินเนื้อซิลิกา" ดังนั้น คำว่า "ไม้กลายเป็นหิน" จึงน่าจะมาจากศัพท์ "Petrified Wood" หรือ "Wood Stone" มากกว่า เนื่องจากเป็นคำกลาง ๆ ที่ไม่ระบุชนิดของสารละลายที่เข้าไปแทนที่ในเนื้อไม้ เพราะในสภาพที่เป็นจริงจะพบสารละลายได้หลายชนิด เช่น สารละลายของเหล็ก และ / หรือแมงกานีสไฮดรอกไซด์ สารละลายแคลเซียมไบคาร์บอเนต (ปูน) เป็นต้น ยกเว้นกรณีที่ต้องการเน้นชนิดของสารประกอบหรือแร่ส่วนใหญ่ จึงอาจใช้คำว่า "Silicified Wood, Agatized Wood, Opalized Wood, Calcified Wood" เป็นต้น
คำว่า Petro - และ Petr- เป็นภาษากรีก หมายถึง หิน (Stone หรือ Rock) ดังนั้น Petrified โดยรูปคำศัพท์ จึงหมายถึง "turned into stone" และความหมายในทางธรณีวิทยา หมายถึง "To convert organic material such as wood or bone into stone" (Stokes,1966) ดังนั้น คำว่า "Petrified" จึงหมายถึงการกลายสภาพของวัตถุอินทรีย์ เช่น ไม้ หรือ กระดูกไปเป็นหิน
ภาพ 2 ตอไม้กลายเป็นหิน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 32 เซนติเมตร แสดงวงปีการเจริญเติบโต (Annual Growth Ring) 36 วงปี พบในชั้นหินกอนด์วานา (Gondwana Strata) บน สันตะพักของเทือกเขาโอไฮโอ ทวีปแอนตาร์คติก (ห่างจากขั้วโลกใต้ประมาณ 200 - 300 กิโลเมตร เป็นซากดึกดำบรรพ์พืชของทั้งมหายุคมีโซโซอิกและซีโนโซอิก และเป็นหลักฐาน บ่งชี้ถึงภูมิอากาศในอดีต ซึ่งบางสมัยเวลา อากาศจะอุ่นกว่าปัจจุบันนี้ (Dott and Batten, 1981) หรือบ่งชี้ถึงการเคลื่อนย้ายของทวีปจากเขตอบอุ่นไปสู่เขตขั้วโลก
3. ความสำคัญของซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน
ในทางวิชาการ ไม้กลายเป็นหินเปรียบเสมือน กุญแจไขไปสู่โลกในอดีต และย้อนยุคไปไกลได้ ถึง 300 - 400 ล้านปีก่อน ความสำคัญในทางวิชาการต่าง ๆ เช่น
3.1 ความสำคัญในทางชีววิทยา พฤกษศาสตร์และบรรพชีวินวิทยา คือ ด้านการศึกษาชนิดพืช การจำแนกพืช และวิวัฒนาการของพืชตั้งแต่บรรพกาลจนถึงปัจจุบัน
3.2 ความสำคัญในทางธรณีวิทยา คือ ช่วยบอกอายุของชั้นหินหรือตะกอนซึ่งจำเป็นสำหรับการจัดลำดับชั้นหิน และเป็นหลักฐาน อธิบายปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา เช่น การแยกตัวหรือเคลื่อนตัวของทวีปต่าง ๆ
ภาพ 3 เครื่องมือสมัยหินเก่าที่ทำจากไม้ กลายเป็นหิน พบใน อ.สูงเนิน นครราชสีมา (วัฒนธรรมแอนยา- เธี่ยน = ภาพวาดลายเส้น หมาย-------> หมายถึง รูปร่าง คล้ายกัน) (สุด แสงวิเชียร, - 2530)
3.3 ความสำคัญในทางภูมิศาสตร์ คือ บอกถึงสภาพแวดล้อมของโลกสมัยบรรพกาลในแต่ละช่วงเวลา เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ (อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ฤดูกาล) พืชพรรณธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นข้อมูลทำนายปรากฏการณ์ธรรมชาติในอนาคตได้
3.4 ความสำคัญในทางโบราณคดี ไม้กลายเป็นหินในบางแหล่งได้กลายเป็นหลักฐาน สำคัญในทางโบราณคดี เช่น ในประเทศพม่า ได้พบเครื่องมือสมัยยุคหินเก่าที่ทำจากไม้กลายเป็นหิน นักโบราณคดีให้ชื่อว่า "วัฒนธรรมแอนยาเธี่ยน" ตามชื่อตำบลที่พบ ในประเทศไทยก็พบเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา นักโบราณคดีจึงให้ชื่อว่า "วัฒนธรรมสูงเนิน"
การพบเครื่องมือสมัยหินเก่า (Lower Paleolithic Tools) ที่สูงเนิน ซึ่งทำจากไม้กลายเป็นหิน เป็น 1 ใน 2 สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักโบราณคดีหันมาสนใจภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า เดิม(อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การพบเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่บ้านเชียง อุดรธานี) และทำให้นักโบราณคดีเชื่อว่าดินแดนของภาคนี้ ได้มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างน้อยเป็นเวลาประมาณ 500,000 ปีมาแล้ว โดยใช้เครื่องมือที่ทำจากหิน ซึ่งแยกได้เป็นเครื่องมือสมัยหินเก่า สมัยหินกลาง ส่วนเครื่องมือสมัยหินใหม่ยังสำรวจไม่พบแหล่ง ผู้ที่สนใจในรายละเอียด อาจศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความของศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร (ดูในเอกสารอ้างอิง)
นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญในด้านอื่น ๆ แต่เป็นลักษณะที่ไม่ค่อยเหมาะสม เช่น ความสำคัญในด้านเป็นวัสดุประดับตกแต่งสวนหรือภูมิทัศน์ หรือความสำคัญในด้านอัญมณีและเครื่องประดับ (เพราะไม้กลายเป็นหินบางแหล่งมีเนื้อเป็นพวกโอปอ อาเกตหรือคาลซิโดนี) ทั้งนี้เพราะไม้กลายเป็นหินจัดเป็นโบราณวัตถุตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ฯ พ.ศ. 2504 ซึ่งสมควรอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของท้องถิ่นมากกว่า
4. กำเนิดของไม้กลายเป็นหิน
แหล่งไม้กลายเป็นหินสำคัญของโลก ส่วนใหญ่เกิดจาก 2 สาเหตุ ประการแรก เกิดจากการทับถมพื้นที่ป่าไม้หรือต้นไม้ด้วยเถ้าถ่านหรือลาวาจากภูเขาไฟ วัสดุดังกล่าวมีซิลิกาเป็นองค์ประกอบอยู่มาก เมื่อผุพังสลายตัว ซิลิกาบางส่วนจะอยู่ในรูปสารละลาย ซึ่งสามารถแทรกซึมเข้าไปแทนที่เนื้อไม้อย่างช้า ๆ จนกระทั่งแทนที่ทั้งหมด เช่น ไม้กลายเป็นหินในอุทยานเยลโลว์ สโตน รัฐไวโอมิง เป็นต้น
ประการที่สอง เกิดจากภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้มีกการพัดพาตะกอนกรวดทรายดินจำนวนมาก รวมทั้งซุงหรือท่อนไม้ต่าง ๆ ที่หักโค่นหรือล้มตายจากน้ำไหลหลากหรือจากสาเหตุอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนนั้น ตะกอนกรวดทรายจะตกจมทับถมส่วนของต้นไม้ดังกล่าว โดยเฉพาะในบริเวณร่องแม่น้ำ ณ จุดที่กระแสน้ำมีความเร็วลดลงและไม่สามารถพัดพาต่อไปได้อีก ดินทรายกรวดที่ทับอยู่ข้างบน จะค่อย ๆ ถูกชะล้างโดยน้ำหรือสารละลายที่มีสภาพเป็นกรดหรือด่าง ละลายเอาซิลิกา (SiO2) ออกมา สภาพที่เหมาะสมในการที่จะละลายซิลิกาหรือเนื้อทรายได้ดี คือ สภาพแวดล้อมที่เป็นด่าง น้ำละลายซิลิกาซึมผ่านเข้าไปในเนื้อไม้ที่ฝังอยู่ใต้ดิน ท่อนไม้หรือกิ่งไม้ก็จะอาบชุ่มไปด้วยสารละลายที่มีซิลิกาอยู่ตลอดทุกฤดูที่ มีน้ำหรือสารละลายซึมมา จากนั้นหากในบริเวณนั้นมีสภาพเป็นกรด หรือเนื้อไม้มีปฏิกิริยาเป็นกรด เช่น มีกรดคาร์บอนิก (Carbonic acid - H2CO3) ก็จะทำให้น้ำที่นำซิลิกามาในลักษณะของสารละลายที่มีปฏิกิริยาเป็นด่าง เกิดสภาพเป็นกลางขึ้น ทำให้ซิลิกาที่มีอยู่ในน้ำนั้นตกตะกอนเป็นซิลิกาออกมา เนื้อไม้เดิมจึงค่อย ๆ มีการตกผลึกหรือถูกแทนที่ด้วยซิลิกาเหล่านั้น หากซิลิกาที่เข้าไปแทนที่ในเนื้อไม้ยังมีน้ำปะปนอยู่ จะทำให้เกิดโอปอขึ้น ส่วนใดที่มีซิลิกาแทนที่และมีน้ำไม่เพียงพอหรือน้ำนั้นเหือดแห้งจางไป ส่วนนั้นของไม้ที่ถูกแทนที่จะกลายเป็นเนื้อแร่คาลซิโดนีหมด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแร่ทั้งสองชนิดนี้ จะแทนที่ตรงส่วนไหนของเนื้อไม้นั้นก็ยังขึ้นอยู่กับสภาพทางเคมีและพิสิกส์ ของสิ่งแวดล้อมและภายในเนื้อไม้โดยเฉพาะ
นอกจากนั้น น้ำที่นำเอาซิลิกาเข้าไปในเนื้อไม้ อาจจะมีแร่ธาตุอื่น ๆ ซึ่งถูกละลายหรือพัดพามาจากบริเวณใกล้เคียงอีกหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก นิเกิล ทองแดง เยอมาเนียม ยูเรเนียม ฯลฯ ละลายตัวรวมอยู่ในสารละลายเหล่านี้ด้วย และไหลซึมซาบเข้าไปในเนื้อไม้เหล่านั้นได้เช่นกัน ขณะเดียวกันแร่ธาตุดังกล่าวเหล่านั้น อาจตกตะกอนฝังอยู่ในเนื้อไม้นั้น เป็นผลให้เกิดสนิมของแร่ธาตุต่าง ๆ ดังกล่าวปะปนอยู่ในเนื้อไม้ที่กลายเป็นหิน ไม้กลายเป็นหินจึงเกิดมีสีสันต่าง ๆ มากมาย เช่น แดง เหลือง ดำ น้ำตาล เขียว น้ำเงินหรือสีอื่น ๆ ซึ่งเกิดจากการผสมผสานของธาตุดังกล่าว ดังนั้นบางคนจึงนิยมเอาไม้กลายเป็นหินที่มีสีสันสะดุดตานี้มาเจียระไนหรือ ขัดมัน ทำเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ บ้างก็นำไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปสำหรับบูชา แต่ที่เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ จะแกะสลักได้ยากด้วยเนื้อไม้กลายเป็นหินที่มีเนื้อสวย ๆ และเป็นเนื้อเดียวกันตลอดนั้นไม่ค่อยมี เพราะเนื้อไม้เดิมมักเป็นวง ๆ หรือที่เรียกว่าวงแหวนประจำปี (Annual ring) เนื้อแร่ที่เข้าไปแทนที่จะเปลี่ยนตามวงแหวน โดยอาจเกิดเป็นโอปอในชุดวงแหวนหนึ่ง และเกิดเป็นคาลซิโดนีในอีกชุดวงแหวนหนึ่งหรือเกิดสลับกันไป จึงทำให้เนื้อหินมีลักษณะเป็นชั้นโค้ง ๆ ตามวงแหวนและเนื้อแตกต่างกัน ทำให้ไม่เหมาะที่จะนำมาแกะสลัก ยกเว้นท่อนที่มีเนื้อหรือเป็นชั้นหนา ๆ นอกจากนี้ รอยแตกของไม้เดิมก็มีอยู่มากและมักจะแตกเป็นเส้นรัศมีของวงกลม จึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการแกะสลัก
อนึ่ง ไม้กลายเป็นหินบางแหล่ง มีธาตุยูเรเนียมซึ่งเป็นธาตุกัมมันตภาพรังสีสะสมอยู่ด้วย ดังนั้นหากนำไปเป็นเครื่องประดับ ผู้สวมใส่หรือผู้ที่อยู่ใกล้ก็อาจจะได้รับอันตรายจากรังสีที่แผ่ออกมาจาก อัญมณีไม้กลายเป็นหินนั้นได้โดยไม่รู้ตัว
5. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเกิดไม้กลายเป็นหิน
5.1 เขตภูเขาไฟ โดยเฉพาะบริเวณชั้นล่างของการทับถมจากเถ้าถ่านภูเขาไฟ (Volcanic Ash) เพราะเป็นบริเวณที่มีความพรุนและมีซิลิกา (SiO2) มาก ซิลิกาจะถูกเคลื่อนย้ายโดยน้ำใต้ดินและจะตกผลึกเป็นแร่ควอร์ตซ์ในไม้ที่ถูก ฝังตัวอยู่ใต้เถ้าถ่านดังกล่าว เช่น ไม้กลายเป็นหินบนที่ราบสูงลาวาโคลัมเบียหรือในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
5.2 บริเวณที่ต้นไม้หรือชิ้นส่วนของต้นไม้ถูกฝังตัวอยู่ภายใต้สภาพที่ชุ่มด้วย น้ำ (Water logged Condition) เช่น บริเวณที่เป็นแอ่งเขา ร่องลำน้ำ หนอง บึง เป็นต้น ตะกอนดินทราย กรวด ที่ถูกพัดพามาทับถมในสภาพที่ชุ่มด้วยน้ำ การผุพังของเนื้อไม้จะค่อย ๆ เกิดขึ้น สารละลาย ในบริเวณดังกล่าว เช่น สารละลายของซิลิกา หรือสารละลายอื่นๆ จะค่อย ๆ ซึมซาบเข้าไปในเนื้อไม้ได้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกหรือภูมิประเทศในช่วงเวลาทางธรณีวิทยาต่อ ๆ มาทำให้สามารถพบไม้กลายเป็นหินได้ตามที่ราบ เนินกรวด หรือแม้แต่บนยอดเขา เช่น ที่บ้านหนองรังกา ตำบลโคกกรวด เนินกรวดบ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง นครราชสีมา หรือที่ยอดเขาภูดิน จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะแม่น้ำได้เปลี่ยนทางเดิน จึงทิ้งกรวดทรายและไม้กลายเป็นหินที่เคยอยู่ท้องธาร ให้กลายสภาพมาเป็นที่ราบ ที่เนิน หรือเป็นภูในปัจจุบัน
เมื่อ ประมาณ 16 ล้านปีมาแล้ว บริเวณป่าดงพญาเย็นทางตะวันตกของจังหวัดนครราชสีมา ปกคลุมด้วยพรรณไม้แบบป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ที่มีต้นไม้หลากหลายชนิด เช่น มะค่าโมง ยาง กะบก รกฟ้า ปาล์มต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างจากสภาพปัจจุบันมากมาย ต้นไม้ ตายแล้วก็ล้มไปตามกาลเวลา แต่เมื่อถูกน้ำป่าในสมัยบรรพกาลพัดพาไป ต้นไม้ท่อนไม้และกิ่งไม้ต่าง ๆ ก็ลอยไปกับกระแสน้ำ แล้วจมทับถมลงในท้องแม่น้ำมูลโบราณขนาดใหญ่ ที่ไหลผ่านบริเวณโกรกเดือนห้า โดยมีตะกอน กรวด ทราย ดินเหนียว กลบฝังไว้
ภาย ใต้ชั้นตะกอนที่ชุ่มด้วยน้ำหลายสิบเมตร ส่วนของต้น ไม้ต่าง ๆ จะผุสลายตัวได้ช้ากว่าปกติ ทำให้สารละลายจากน้ำใต้ดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกซิลิกา ร่วมกับสารส่วน น้อยอื่น ๆ แทรกเข้าไปตกผลึกเป็นแร่ควอร์ตซ์สีสันต่าง ๆ แทนที่ช่องว่างในเซลล์ทุกส่วนของไม้ จนกลายสภาพไปเป็นหินในที่สุด หลาย แสนปีมาแล้ว แม่น้ำโบราณได้เปลี่ยนทางเดินไปในแนวอื่น ชั้นตะกอนเดิมที่ปกคลุมอยู่ตอนบนได้ถูกลำธาร ฝน ลม ชะล้างพัดพาให้สึกกร่อนออกไป ทำให้ไม้กลายเป็นหินเผยตัวอยู่ตามผิวดินหรือใต้ผิวดินระดับตื้น ดังที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในทุกวันนี้
ภาพ 4 แสดงการกำเนิดไม้กลายเป็นหินโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา
ภาพ 5 เศษไม้กลายเป็นหินในชั้นกรวดยุคควอเทอร์นารี อายุประมาณ 16 - 0.7 ล้านปีก่อน บริเวณบ้านโกรกเดือนห้า อำเภอเมืองนครราชสีมา
6. แหล่งและการกระจาย
ไม้กลายเป็นหินพบในหลายประเทศ แต่แหล่งใหญ่ที่สุด คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแหล่งที่สำคัญ ได้แก่ รัฐอริโซนา แคลิฟอร์เนีย วอชิงตัน นิวยอร์ค ไวโอมิง ไอดาโฮ นอร์ท แคโรไลนา โอเรกอน เซาท์ดาโกตา ยูทาห์ เวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญ คือ ประเทศอียิปต์ นามิเบีย อาเจนตินา กรีซ ออสเตรเลีย อินเดีย จีนและประเทศไทย เป็นต้น
ในทวีปเอเชีย ประเทศไทยน่าจะเป็นแหล่งไม้กลายเป็นหินที่เด่นที่สุด เพราะพบเห็นได้ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่พบมากที่สุด คือ จังหวัดนครราชสีมา รองลงมา คือ จังหวัดขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี สำหรับภาคอื่น ๆ พบในจังหวัดตาก นครนายก สระบุรี ลพบุรี ลำพูน เพชรบูรณ์ เป็นต้น ส่วนชนิดของไม้กลายเป็นหินยังอยู่ในระยะเริ่มมีการศึกษา เอกสารทางวิชาการที่เผยแพร่ยังมีน้อย
ในจังหวัดนครราชสีมา แหล่งสำคัญของไม้กลายเป็นหินจะอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา จักราช เฉลิมพระเกียรติ สูงเนิน โชคชัย ชุมพวง ห้วยแถลงและขามทะเลสอ โดยเฉพาะที่บ้านโกรกเดือนห้า บ้านมาบเอื้อง บ้านหนองรังกา และบ้านหนองขอน ในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา จัดได้ว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดและมีสีสันสวยงามที่สุดของประเทศ โดยแหล่งที่เด่นที่สุดเพราะมีจำนวนมาก หลากหลายรูปแบบและเห็นได้ชัดในภูมิประเทศจริง คือ บริเวณบ้านโกรกเดือนห้า
แผนที่ 1 แสดงที่ตั้งของบ้านโกรกเดือนห้าและหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลสุรนารี อำเภอเมือง นครราชสีมา
7. อายุุ
แม้ว่าพืชจะวิวัฒนาการมาจากสาหร่ายสีเขียว (Green Algae) ที่มีอายุการกำเนิดบน โลกมากว่า 3,300 ล้านปีมาแล้ว แต่ที่วิวัฒนาการจนมีราก ลำต้น ใบ อย่างพืชพวกแรกที่เรียกว่าเฟิร์นนั้น ได้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อยุคไซลูเรียน (435 ล้านปีมาแล้ว) และได้แพร่กระจายกว้างขวาง บนโลกในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (345 ล้านปีมาแล้ว) ส่วนพืชพวกสนได้แพร่กระจายมากในยุคไทรแอสซิก (230 ล้านปีมาแล้ว) ทั้งนี้เพราะภูมิอากาศเย็นและแห้งแล้ง (Nelson และ Robinson, 1982)
ซากดึกดำบรรพ์ป่าไม้กลายเป็นหินที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งเรียก ว่า "Fossil Forests" พบใกล้ เมือง Gilboa รัฐนิวยอร์ค จากการตรวจสอบอายุปรากฏว่ามีอายุอยู่ในยุคดีโวเนียน (395 ล้านปีมาแล้ว) ซากตอไม้บางต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1 เมตร ในบางเหมืองมีตอไม้ไม่ต่ำกว่า 18 ตอ โผล่ในพื้นที่ 4.5 ตารางเมตร ส่วนไม้กลายเป็นหินในอุทยานแห่งชาติป่าไม้กลายเป็นหินในรัฐอริโซนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าสน มีอายุอยู่ในยุคไทรแอสซิก บางท่อนมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1.5 เมตร และยาวมากกว่า 30 เมตร
ในประเทศไทย ไม้กลายเป็นหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด พบอยู่ในยุคเพอร์เมียน (280 - 230 ล้านปีก่อน) เป็นไม้สกุลปาล์ม พบในเขตอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ (นเรศ สัตยารักษ์, 2538 ปรึกษาส่วนตัว) อย่างไรก็ตาม ไม้กลายเป็นหินอายุมากส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มหินโคราช เช่น ในหมวดหินภูกระดึง (170 ล้านปีก่อน) ของอำเภอวังน้ำเขียวและอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หมวดหินพระวิหาร (140 ล้านปีก่อน) บริเวณเขายายเที่ยง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา บริเวณอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
ภาพ 6 รศ. ดร. เบ็ญจวรรณ รัตนเสถียร ภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังศึกษาไม้กลายเป็นหินจากแหล่งบ่อทราย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ นครราชสีมา ณ วัดโกรกเดือนห้า อำเภอเมืองนครราชสีมา
ไม้กลายเป็นหินส่วนใหญ่และที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทย จะมีอายุอยู่ในมหายุคใหม่ ทางธรณีวิทยาหรือมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic Era, 65 ล้านปีก่อน - ปัจจุบัน) โดยอายุสมัยทางธรณีวิทยาที่แท้จริงยังไม่มีการพิสูจน์กัน แต่จากการพบไม้กลายเป็นหินในชั้นกรวดทรายของบ่อทรายตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีลักษณะกรวดทรายคล้ายกับกรวดทรายตามตะพักกรวด (Gravelly Terrace) ที่พบไม้กลายเป็นหินทั่วไปของจังหวัดนครราชสีมา โดยพบร่วมกับซากช้างโบราณพวกช้างงาจอบ สกุลโปรไดโนธีเรียม (Prodeinotherium) และช้าง 4 งา พวกกอมโฟธีเรียม (Gomphotherium) ในบ่อทรายดังกล่าวด้วย เซกุซา และคณะ (Saegusa et al., 2002. ปรึกษาส่วนตัว) ได้ให้อายุซากช้างโบราณดังกล่าวอยู่ในสมัยไมโอซีนตอนกลาง (16 - 11 ล้านปีก่อน) นอกจากนี้ ในชั้นกรวดตอนบนของหน้าตัดดินที่พบไม้กลายเป็นหินหลายแห่งของจังหวัด นครราชสีมา มักพบหินเทคไทต์ (Tektite) ที่มีอายุประมาณ 7 แสนปี (Bunopass et al., 1999) ดังนั้น ไม้กลายเป็นหินที่พบตามตะพักกรวดหรือชั้นกรวดใต้ชั้นตะกอนแม่น้ำปัจจุบัน ซึ่งในอดีต คือ ตะกอนท้องแม่น้ำโบราณขนาดใหญ่ น่าจะมีอายุอยู่ในช่วง 16 - 0.7 ล้านปีก่อนด้วย
8. การอนุรักษ์
ประเทศที่มีการอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหินมากที่ สุด คือ ประเทศสหรัฐ อเมริกา ในบางรัฐ เช่น ไวโอมิง จะห้ามการเก็บไม้กลายเป็นหินในที่สาธารณะก่อนได้รับอนุญาต และหน่วยงานที่อนุรักษ์ในประเทศนี้ มีทั้งพิพิธภัณฑ์ของ รัฐ เมือง มหาวิทยาลัย ศูนย์ อุทยาน สวน พฤกษศาสตร์หรือสวนสาธารณะต่าง ๆ และบางรัฐแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็ก ตัวอย่างแหล่งที่มีการอนุรักษ์ ซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหินที่สำคัญ คือ
8.1 Petrified Forest National Park ในรัฐอริโซนา ประชาชนของรัฐนี้มีความภาคภูมิใจว่าเป็น 1 ใน 2 ภูมิประเทศตามธรรมชาติ ที่มีชื่อเสียงที่สุดของรัฐ คู่กับ Grand Canyon National Park ในอุทยานแห่งชาติดังกล่าว มีท่อนไม้โบราณขนาดใหญ่ที่กลายเป็นหินสีสันสวยงาม และมีพิพิธภัณฑ์แสดงรายละเอียดของการเกิดไม้กลายเป็นหินด้วย
ป่าไม้กลายเป็นหินแหล่งนี้ พบเป็นแหล่ง แรกเมื่อ ค.ศ. 1853 โดยคณะผู้สำรวจเส้นทางเพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายแปซิฟิค ตัวอย่างไม้กลายเป็นหินบางส่วนจากแหล่งนี้ได้ถูกนำไปเก็บไว้ ในสถาบัน สมิธโซเนียน (Smithsonian) และมีการตีพิมพ์รายงานการศึกษาสำรวจใน ค.ศ.1900 ต่อมา ใน ค.ศ. 1906 ทางการได้ประกาศเป็น National Monument และภายหลังประกาศเป็น National Park ใน ค.ศ. 1962
ภาพ 7 ต้นเรดวูดขนาดยักษ์ที่กลายเป็น หินใน Petrified Forest Park รัฐแคลิฟอร์เนีย ยาว 24 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร (Stokes, 1966)
8.2 Ginkgo Petrified Forest State Park ที่ Vantage Bridge รัฐวอชิงตัน ได้ชื่อ ว่าจัดแสดงไม้กลายเป็นหินดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งเป็นสิ่งดีที่สุดของเมือง ตั้งอยู่บนที่ราบสูงลาวาโคลัมเบีย มีพื้นที่ 42,500 ไร่
ภาพ 8 ไม้กลายเป็นหินที่ Vantage Bridge รัฐวอชิงตัน
8.3 Petrified Forest Park ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งอยู่บนถนนจากเมือง Santa Rosaไปยัง Calistoga เป็นหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างป่าไม้โบราณที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีอายุ 3 ล้านปีก่อน (สมัยไพลโอซีน) พรรณไม้ที่กลายเป็นหินมีหลายชนิด และมีขนาดใหญ่ เช่น ต้น Sequoia (Red Wood) Fir, Spruce, Hemlock, Tan Oak เป็นต้น
8.4 The Buried Fossil Forests ในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน รัฐไวโอมิง โดยพบ บนหน้าผาตามแนวฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำลามาร์ และพบถึง 27 ป่าด้วยกัน ป่าเหล่านี้มีอายุอยู่ในสมัยอีโอซีน (55 ล้านปีมาแล้ว) และถูกฝังตัวอยู่ในเศษหินภูเขาไฟ (Volcanic Fragments) ซึ่งแสดงว่าป่าเหล่านี้แต่ละป่าเกิดขึ้นในระหว่างที่ภูเขาไฟหยุดการปะทุ 27 สมัยธรณีกาล โดยเมื่อภูเขาไฟปะทุ เศษหินภูเขาไฟได้ปิดทับฝังป่าไม้เหล่านี้จนกลายเป็นหินไปในที่สุด
8.5 Museum of Petrified Wood เมือง Rochester รัฐนิวยอร์ค
8.6 Geology Museum, Petrified Forest และ Piedmont Cycad National (Petrified) Forest รัฐเซาท์ดาโกตา
ภาพ 9 ซากดึกดำบรรพ์ป่าถูกฝัง ในอุทยาน เยลโลว์สโตน มลรัฐไวโอมิง นักธรณีวิทยาสำรวจพบป่าไม้กลายหินถึง 27 ป่าที่ถูกฝังอยู่ใต้ผิวดินในช่วงความ ลึกต่าง ๆ โดยโผล่ตามแนวหน้าผาฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำลามาร์ (Lamar River) ในพื้นที่อุทยานด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ป่าเหล่านี้มีอายุอยู่ในตอนกลางสมัย อีโอซีน (Eocene) ภาพ สเก็ตซ์ด้านซ้าย แสดงชั้นของป่าไม้แต่ละชั้นที่เป็นผิวดินเดิมแต่ถูกฝังอยู่ในหินภูเขาไฟ ชนิดหินกรวดเหลี่ยมภูเขาไฟและหินทัฟฟ์ ภาพล่างซ้ายและบนขวา แสดงส่วนของตอไม้กลายเป็นหิน ที่เหลืออยู่จากการสึกกร่อนของฝั่งน้ำ และยืนต้นอยู่ในที่เดิม ข้อมูลเหล่านี้แสดงว่าป่าไม้ข้างต้นเกิดขึ้น และเติบโตในสมัยที่ภูเขาไฟเงียบสงบ หรือหยุดระเบิด ต่อมาถูกทับถมด้วยเศษหินภูเขาไฟ ในสมัยที่ภูเขาไฟระเบิด ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำ ๆ แต่ต่างเวลากัน ไม่น้อยกว่า 27 ครั้งในช่วง เวลากลางสมัยอีโอซีน (49 - 43 ล้านปีก่อน)
8.7 Henderson Petrified Forest เมือง Florissant รัฐโคโลราโด
8.8 Petrified Forests ใน Circle Cliffs County รัฐยูทาห์ เป็นพวกไม้สน อายุ 165 ล้านปีก่อน บางต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 3 เมตร ผ่านการผุกร่อนตามกาลเวลา จนบางต้นเหลือยืนเป็นตอไม้กลายเป็นหินอยู่ในที่เดิม สำหรับการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินในประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา ได้แก่
8.9 ป่าไม้กลายเป็นหิน ประเทศอิยิปต์ (Egypt : The Fossilized Forest) ตั้งอยู่ที่ al - Qattamiya ทางตะวันออกของกรุงไคโร พบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน เมื่อ ค.ศ. 1905 ต่อมาใน ค.ศ. 1989 ทางรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 7 ตารางกิโลเมตร จากจำนวนพื้นที่ป่าไม้กลายเป็นหินทั้งหมดกว่า 500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปรากฏตามแนวถนน al - Qattamiya ถึง Ein as - Sakhna ไม้กลายเป็นหินที่พบ บางท่อนยาวถึง 25 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร มีหลายสี เช่น สีแดง ดำ ขาว มีอายุอยู่ในสมัยโอลิโกซีน หรือ ประมาณ 35 ล้านปีก่อน
8.10 ป่าไม้กลายเป็นหิน ประเทศนามิเบีย (Namibia : Petrified Forest) ตั้งอยู่ทาง เหนือของประเทศ ในเขตดามาราแลนด์ (Damaraland) ทางใต้ของอุทยานแห่งชาติอิโตชา (Etosha National Park) ห่างจากเมืองโคริซัส (Khorixas) ตามถนนสาย ซี. 39 (C.39) เป็นระยะทาง 42 กิโลเมตร ในอดีตเมื่อ ค.ศ. 1950 เคยประกาศเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ (National Monument) แต่ก็ถูกทำลายอย่างมาก โดยนักล่าของที่ระลึก ปัจจุบัน ทางการได้ห้ามเคลื่อนย้ายหรือทำลายแม้แต่ชิ้นเล็ก ๆ อายุไม้กลายเป็นหินบริเวณนี้เก่ามาก คือ ประมาณ 250 ล้านปีก่อน บางท่อนยาวถึง 30 เมตร
8.11 อุทยานไม้กลายเป็นหิน Thiruvaggarai (Thiruvaggarai' s Wood Fossil Park หรือ Fossil Wood of Thiruvakkarai Area) ประเทศอินเดีย เป็นอุทยานไม้กลายเป็นหินแห่งแรกของประเทศ ตั้งอยู่ใน South Arcot District รัฐทมิฬนาดู (Tamilnadu State) อุทยานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ การสำรวจทางธรณีวิทยาของอินเดีย (Geological Survey of India National Park) ไม้กลายเป็นหินบางท่อนในอุทยานมีความยาวมากกว่า 30 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เมตร และมีอายุเกือบ 20 ล้านปีก่อน
8.12 ป่าไม้กลายเป็นหินในอุทยานแห่งชาตินามบัง (Nambung National Park's Petrified Forest) ในรัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย อุทยานแห่งนี้ เมื่อ 40,000 ปีก่อนเคยเป็นป่าโบราณตามธรรมชาติ ภายหลังเมื่อทวีปออสเตรเลียเคลื่อนตัวขึ้นไปทางเหนือ ทำให้บริเวณส่วนนี้เข้าไปอยู่ในเขตรุ้งม้า ซึ่งมีอากาศจมตัวลงจากเบื้องบน จึงเกิดภูมิอากาศแห้งแล้งแบบทะเลทราย ต้นไม้แห้งตายและมีตะกอนทรายพัดพามาทับถม ปัจจุบัน มีตอไม้ที่กลายเป็นหินโผล่จากพื้นทรายกระจายอยู่ทั่วไป (Andrew Tan, 1999)
8.13 ป่าไม้กลายเป็นหินซาร์มิเอนโต หรือ โจเซ่ ออร์มาเชีย (Petrified Wood of Sarmiento หรือ Jose' Ormachea Petrified Forest) เป็นป่าไม้กลายเป็นหินในเขตสเตปป์ตอนกลาง (The Central Steppes's Petrified Forest) ของประเทศอาร์เยนตินา ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของที่ราบสูงปาตาโกเนีย (Patagonia Highland) ป่าไม้กลายเป็นหินบริเวณนี้ เกิดจากการทับถมโดยธารลาวาภูเขาไฟ ท่อนไม้กลายเป็นหินเป็นหินบางท่อนมีขนาดใหญ่มาก บางท่อนมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 3 เมตร ความยาวมากกว่า 27 เมตร ปัจจุบัน บริเวณนี้จัดเป็นอนุสรณ์สถานธรรมชาติด้านป่าไม้กลายเป็นหินของประเทศ
ภาพ 10 ไม้กลายเป็นหินในอุทยานวิคตอเรีย เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษ เป็นซาก ดึกดำบรรพ์ของพรรณไม้เลปิโดเดนดรอน (Lepidodendron) ในตอนต้น ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (345 - 323 ล้านปีมาแล้ว)
- อุทยานไม้กลายเป็นหิน รัฐเซาท์ดาโกตา ประเทศสหรัฐอเมริกา - ป่าไม้กลายเป็นหินเลสวอส (Lesvos) เมือง Sigri ประเทศกรีซ
- ไม้กลายเป็นหิน ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ วิทยาศาสตร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ - ป่าไม้กลายเป็นหิน มณฑลซินเจียง ประเทศจีน
- ป่าไม้กลายเป็นหิน ประเทศนามิเบีย ทวีปแอฟริกา - ป่าไม้กลายเป็นหินซาร์มิเอนโต ประเทศอาร์เยนตินา
ทวีปอเมริกาใต้
ภาพ 11การอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินในประเทศต่าง ๆ
8.14 ป่าไม้กลายเป็นหินเลสวอส (Petrified Wood fo Lesvos) และพิพิธภัณฑ์ประวัติ ศาสตร์ธรรมชาติของป่าไม้กลายเป็นหินเลสวอส (Natural History Museum of the Lesvos Petrified Forest) ประเทศกรีซ ตั้งอยู่ที่เมือง Sigri ชายฝั่งทางด้านตะวันตกของเกาะเลสวอส ก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เมื่อ ค.ศ. 1994 มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา วิจัย ประชาสัมพันธ์ สงวน (preserve) และอนุรักษ์ (conserve) ไม้กลายเป็นหินเป็นพิเศษ
8.15 ประเทศอื่น ๆ เช่น อังกฤษ เยอรมนี ซูดาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ฯลฯ
ในประเทศไทย หน่วยงานรัฐยังไม่ค่อยให้ความสนใจ หรือเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์เท่าที่ควร ยกเว้นเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ในส่วนของซากดึกดำบรรพ์พืชยังไม่ปรากฏว่ามีการอนุรักษ์ในบริเวณใด ทั้งที่ซากดึกดำบรรพ์พืชเป็น 1 ใน 2 ประเภทของซากสิ่งมีชีวิตบนโลกที่จะให้ข้อมูลหรือความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวด ล้อมในอดีตของท้องถิ่นได้ดี ทั้งนี้เพราะพืชส่วนใหญ่เกิดขึ้นและตายลงในที่เดิม หรือในบริเวณใกล้เคียงแหล่งกำเนิด
ภาพ 12 ไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่ในอำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งสถาบันราชภัฏนครราชสีมา กำลังดำเนินการให้อยู่ในโครงการอุทยานไม้กลายเป็นหินโกรกเดือนห้า (เส้นผ่านศูนย์ กลางโคนต้น 1 เมตร หัก 3 ท่อน ยาวรวมกัน 3.9 เมตร)
แหล่งไม้กลายเป็นหินที่ควรได้รับการอนุรักษ์ในประเทศไทย มีหลายแหล่ง แต่ส่วนใหญ่ถูกทำลายเพราะการขุดตักกรวดลูกรังและนำไม้กลายเป็นหินออกไปจนหมด สภาพเดิม แหล่งที่มีเหลืออยู่ ซึ่งพอจะจัดเป็นอุทยานป่าไม้กลายเป็นหินได้ เช่น แหล่งบ้านบ่อหินขาว ตำบลสาวะถี อำเภอเมืองขอนแก่น แหล่งบ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา เพราะไม้กลายเป็นหินยังปรากฏเป็นจำนวนมากในชั้นกรวดช่วงตอนบนของภูมิประเทศ มีทั้งขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1.4 และยาวมากกว่า 20 เมตร โดยเฉพาะในแหล่งของตำบลสุรนารี จะมีหลากหลายชนิดและมีสีสันสวยงามมากที่สุดในประเทศไทย
ในจังหวัดนครราชสีมา มีการนำไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 30 เซนติเมตร ถึงมากกว่า 1 เมตร ออกไปจากพื้นที่นับเป็นพันท่อนในช่วงเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่เริ่มสร้างถนนมิตรภาพและถนนสายอื่น ๆ ในท้องถิ่นใกล้เคียง โดยบางคนเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว เพื่อใช้ตกแต่งบริเวณบ้านหรือสถานที่ บางคนสะสมแบบของเก่าที่หายาก และบางคนสะสมไว้เพื่อจำหน่ายภายในหรือต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เป็นต้น
ภาพ 13 ไม้กลายเป็นหินในอุทยานหิน - แร่ สถาบันราชภัฏนครราชสีมา
ไม้กลายเป็นหินเป็นทรัพยากรธรณีและซากดึกดำบรรพ์ รวมทั้งเป็นมรดกของชาติที่สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งเพื่อการศึกษาและนันทนาการ ประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา จะอนุรักษ์ไว้ในรูปของอุทยานแห่งชาติ สวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ โดยดำเนินการมากว่า 90 ปี และกระทำกันทั่วประเทศ ผู้คนที่เข้าไปชมไม่สามารถนำสิ่งใดออกไปได้ นอกจากความทรงจำและภาพถ่าย ดังนั้น ถ้าเราจะขายไม้กลายเป็นหิน เปลี่ยนมาเป็นขายบริการท่องเที่ยวในรูปแบบของอุทยานไม้กลายเป็นหินและ พิพิธภัณฑ์ จะไม่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่าหรือ ? ในอนาคตลูกหลานของเราก็ยังได้รับมรดกทางธรรมชาตินี้อยู่ใช่ไหม ?
ไม้กลายเป็นหิน (อังกฤษ: petrified wood)
คือซากดึกดำบรรพ์ของพืชประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นจากท่อนไม้ถูกฝังกลบอยู่ใต้ผิวดินในสภาพที่ขาดออกซิเจนทำให้เนื้อ ไม้ไม่เน่าเปื่อย และถูกฝังแช่อยู่ในสารละลายซิลิก้าที่ มีความเข้มข้นสูงเพียงพอ ในสภาพแวดล้อมที่ท่อนไม้และสารละลายซิลิก้าได้สัมผัสกับออกซิเจนเป็นบางช่วง เวลาทำให้สารละลายซิลิก้าตกตะกอนในรูปของซิลิก้าเจล สะสมตัวแทนที่ช่องว่างของเนื้อไม้ ด้วยระยะเวลาอาจเป็นร้อยปีทำให้ท่อนไม้กลายเป็นเนื้อหินโดยที่ยังรักษาโครงสร้างเนื้อไม้ดั้งเดิมเอาไว้
คือซากดึกดำบรรพ์ของพืชประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นจากท่อนไม้ถูกฝังกลบอยู่ใต้ผิวดินในสภาพที่ขาดออกซิเจนทำให้เนื้อ ไม้ไม่เน่าเปื่อย และถูกฝังแช่อยู่ในสารละลายซิลิก้าที่ มีความเข้มข้นสูงเพียงพอ ในสภาพแวดล้อมที่ท่อนไม้และสารละลายซิลิก้าได้สัมผัสกับออกซิเจนเป็นบางช่วง เวลาทำให้สารละลายซิลิก้าตกตะกอนในรูปของซิลิก้าเจล สะสมตัวแทนที่ช่องว่างของเนื้อไม้ ด้วยระยะเวลาอาจเป็นร้อยปีทำให้ท่อนไม้กลายเป็นเนื้อหินโดยที่ยังรักษาโครงสร้างเนื้อไม้ดั้งเดิมเอาไว้
ด้วยระยะเวลานับเป็นหมื่นเป็นแสนปีหรือมากกว่านี้ ไม้กลายเป็นหินจะค่อยๆสูญเสียน้ำทีละน้อยและค่อยๆพัฒนาเป็นโอปอลที่ มีสีสันสวยงามได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมลทินซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ปะปนอยู่ในเนื้อของซิลิก้า ออกไซด์ ซึ่งแร่ธาตุต่างๆให้สีสันต่างๆกันไป เช่น
แหล่งไม้กลายเป็นหินในประเทศไทย
มีรายงานการค้นพบไม้กลายเป็นหินในประเทศไทยหลายแห่ง ทั้งที่มีอายุเก่าแก่ถึงยุคไทรแอสซิกที่อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้รับการศึกษาวิจัยโดยนักบรรพชีวินวิทยาพืชชาวญี่ปุ่นว่า เป็นไม้สนสกุล อะรอคาริโอไซลอน (Araucarioxylon sp.) และยังมีรายงานการค้นพบกระจัดกระจายในชั้นหินมหายุคมีโซโซอิกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านโกรกเดือนห้า อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นที่มาของการก่อสร้างและพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน และพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาแหล่งไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่ครอบคุมพื้นที่มากกว่า 30 ตารางกิโลเมตรถูกค้นพบในเขตวนอุทยานไม้กลายเป็นหิน (Bantak Petrified Forest Park) อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก จากการสำรวจขุดค้นพบว่าท่อนไม้กลายเป็นหินฝังตัวอยู่ใต้ชั้นกรวดยุคควอเทอร์นารีซึ่ง เป็นกรวดแม่น้ำโดยพิจารณาจากความเรียบและกลมมนของเม็ดกรวด จากการสำรวจภาคพื้นดินพบท่อนไม้โผล่ให้เห็นหลายสิบท่อน และได้มีการขุดขึ้นมาเพื่อจัดแสดงและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้วจำนวน 8 ท่อนจากจำนวน 7 หลุมขุดค้น จากการวิจัยพบว่าเป็นไม้ทองบึ้ง (Koompassioxylon elegans sp.) จำนวน 6 ท่อน และไม้มะค่าโมง (Pahudioxylon sp.) จำนวน 2 ท่อน (วิฆเนศ ทรงธรรม 2553) ถือว่าเป็นแหล่งไม้กลายเป็นหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
อ้างอิง
* วิฆเนศ ทรงธรรม (2553) ธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาแหล่งไม้กลายเป็นหิน อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก. กรมทรัพยากรธรณี สำนักคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ 68 หน้า
* Asama, K. (1973) Some younger Mesozoic plants from the Lom Sak Formation, Thailand. In T. Kobayashi and R. Toriyama (eds.), Geology and Palaeontology of Southeast Asia, pp. 39-46, Tokyo University Press, Japan.
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน โคราช ต่อ เนื่องจากที่ได้ไปทัวร์โคราชเมื่อวันที่ 25-26 เมษายน ที่ผ่านมา อาทิตย์ต่อมา (1-3 พ.ค.) มีแผนอยู่แล้วว่าจะต้องพาครอบครัวกลับบ้านที่โคราช ขากลับมากรุงเทพฯ ก็เลยแวะพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ซึ่งเป็นทางผ่านอยู่แล้ว
พิพิธภัณฑ์ ไม้กลายเป็นหิน อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชื่อใช่ไหมครับ เป็นหนึ่งในเจ็ดแห่งของโลก และเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 184 หมู่ 7 บ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา (โทร. 044-216617 www.nrru.ac.th/fossil/) ซึ่ง ที่นี่เป็นแหล่งที่พบซากฟอสซิลมากที่สุด ในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงไม้กลายเป็นหิน นานาชนิด รวมทั้งวีดีทัศน์การกำเนิดโลก สาเหตุที่ไม้กลายเป็นหิน สถานที่แห่งนี้ ดูแลโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ถนน สายนี้เป็นถนนตัดผ่านระหว่างทางหลวงหมายเลข 304 และถนนมิตรภาพ (นครราชสีมา-กรุงเทพฯ) แต่ก่อนถ้าใครผ่านไปมาก็จะเห็นท่อนหินวางระเกะระกะไปทั่วบริเวณ ซึ่งไม้กลายเป็นหินเหล่านี้ พบที่นี่เป็นจำนวนมาก
กำเนิดของพิพิธภัณฑ์นั้น เริ่มจาก ดร. ปรีชา อุยตระกูล ร่วมกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ในเรื่อง “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโคราชในทศวรรษหน้า” ที่โรงแรมสีมาธานี เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2537 ผศ. ดร. ประเทือง จินต สกุล หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครราชสีมา ขณะนั้น เป็นผู้อภิปรายในที่ประชุม ได้เสนอสถานการณ์วิกฤติของซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน ในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งโครงการอนุรักษ์ในรูปของอุทยาน และพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ผู้ ว่าราชการจังหวัด นายสุพร สุภสร ซึ่งร่วมประชุมอยู่ด้วย ได้ประกาศในนามของจังหวัดและที่ประชุม ว่าพร้อมที่จะสนับสนุนการอนุรักษ์ตามโครงการดังกล่าว โดยต่อมาเมื่อ 11 เมษายน 2538 ได้อนุมัติงบประมาณ 1 ล้านบาท ให้กับ ผศ. ดร. สมศักดิ์ ทองงอก อธิการบดีสถาบันราชภัฏนครราชสีมา ในขณะนั้น เพื่อดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์ และการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินขึ้น
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินมีพื้นที่ 80 ไร่ ภายใต้งบประมาณการก่อสร้าง 150 ล้านบาท โดยการสนับสนุน ผลัก ดันหรืออนุมัติโดย ฯ พณ ฯ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในสมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ โดยการประสานงานจากนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รวมทั้งการสนับสนุนจากจังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานโยธาธิการจังหวัด กองทัพภาคที่ 2 ศูนย์ รพช. องค์การบริหารส่วนตำบลสุรนารี เป็นต้น
ทั้ง นี้ด้วยพระมาหากรุณาธิคุณ แห่งสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ได้ทรงให้การสนับสนุน และสนพระทัย นับแต่การเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการไม้กลายเป็นหิน ที่จัดแสดงโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2540 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพราะพระองค์ทรงตระหนักในคุณค่า และปรารถนาให้มีการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหิน รวมทั้งทรงติดตามการดำเนินงานโครงการนี้ตลอดมา
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ประกอบด้วย การจัดแสดงสามส่วนด้วยกัน คือ
1. พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน
2. พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์
3. พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์
เปิด ให้บริการทุกวันเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. อัตราคาเข้าชมพิเศษเฉพาะปีนี้ ผู้ใหญ่ 30 บาท นักศึกษา 20 บาท (ปวส.-ป.ตรี) นักเรียนประถม – ปวช. 10 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท พระภิกษุ สามเณร คนพิการ ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ไม่เสียค่าเข้าชม
ไม่ น่าเชื่อเลยว่าบ้านเราเมืองเราจะมีพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัยและให้ความรู้ได้ อย่างดี รวมถึงมีความสำคัญต่อประเทศชาติ ประชาชนที่มีหลักฐานการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์ของโลก ได้ศึกษาและทำความเข้าใจอย่างใกล้ชิด อย่าช้าเลยที่จะต้องแวะเข้าไปชม สำหรับท่านที่เดินทางไปโคราช พลาดไม่ได้นะครับ อยู่ก่อนถึงตัวเมืองโคราช 16 กม. (กรณีที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ สายมิตรภาพ) กลับรถที่ สะพานกลับรถโคกกรวด (เลย ทางแยก อ.ขามทะเลสอ) ถ้ามา จากนครราชสีมา ถนนมิตรภาพ ก็เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าตลาดพันธ์ไม้ (จะมีป้ายบอกทาง) โคกกรวดได้เลยครับ ไปอีก 11 กม. อีกทางหนึ่งคือ ถ้ามาจากทาง 304 ปักธงชัย เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้า ม. เทคโนโลยีสุรนารี (เลยแยกสวนสัตว์มาเล็กน้อย) ประมาณ 3 กม. ก็ถึงครับ
ขอบคุณข้อมูลจากบล๊อก มัชฌิมาปกร
ความยิ่งใหญ่ของต้นที่ 7 ที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดต้นหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ส่วนปลายได้ถูกน้ำกัดเซาะออกไปหลายเมตร ไม่อย่างงั้นต้นนี้อาจจะเป็นต้นที่ใหญ่ ยาว ที่สุดก็ว่าได้