ภายหลังจากที่มีการตัดถนนผ่านสามชุก ส่งผลให้ตลาดสามชุกเริ่มซบเซาลง แต่ด้วยวิถีชีวิตของชุมชนตลาดสามชุก ที่ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเวลาจะผ่านมานับร้อยปี ชาวตลาดสามชุกจึงได้ร่วมกันปรับปรุง ฟื้นฟู สถาปัตยกรรมไม้ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชน วันนี้ตลาดสามชุก จึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และมีสิ่งน่าสนใจที่มีเสน่ห์อยู่มากมาย
บ้านขุนจำนง จีนารักษ์ นายภาษีอากรคนแรก และเจ้าของตลาดสามชุก ปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชน บ้านหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 เป็นบ้านไม้ขนาด 3 ชั้น มีการสร้างอย่างประณีตงดงาม แกะสลักไม้ด้วยลวดลายที่อ่อนช้อย ภายในมีรูปภาพเก่าๆ ที่บอกเล่าถึงความเป็นมาของชุมชนสามชุก รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ ของผู้เป็นเจ้าของบ้าน เมื่อครั้งยังมีชีวิตให้ชมอีกด้วย
ร้านค้าหลายร้านในตลาดสามชุก ยังคงเอกลักษณ์บ้านเรือนที่สร้างด้วยไม้ แม้จะเก่าแก่นับร้อยปี แต่ก็เป็นความเก่าที่ดูไม่น่าเบื่อ เช่น ร้านศิลป์ธรรมชาติ เป็นร้านถ่ายรูปโบราณ ที่มีกล้องถ่ายภาพอายุกว่าร้อยปี นอกจากนี้ ยังมีร้านทำฟัน ร้านนาฬิกา ร้านขายทอง โรงแรมไม้ ฯลฯ ที่มีความเก่าแก่ไม่แพ้กัน
ส่วนของกินที่มีอยู่มากมาย เดินไปมุมไหนก็อดไม่ได้ ที่ต้องเข้าไปลิ้มรสนั้น เช่น เจ็กอ้าวบะหมี่เกี๊ยว ที่ทำเส้นบะหมี่เอง รวมถึงเครื่องปรุงต่างๆ ที่เปิดขายมานานกว่า 70 ปี แต่รสชาตินั้น คนสามชุกบอกว่าอร่อยไม่เคยเปลี่ยน
และถ้าเป็นคอกาแฟล่ะก็ ร้านกาแฟท่าเรือส่ง ชงจากฝีมือป้าชั่ง ที่ขายมาตั้งแต่ป้ายังเป็นสาว จนปัจจุบันอายุประมาณ 70 ปีแล้ว แต่ฝีมือการชงยังเข้ม หวาน มัน หอมกลิ่นกาแฟ ที่ทางร้านคั่วและบดเอง คาปูชิโนหรือเอสเปรสโซ่ก็สู้ไม่ได้
ร้านขายยาเก่าแก่ ที่ยังใช้เครื่องบดยาและเครื่องหั่นยาแบบโบราณอยู่ โรงแรมอุดมโชค โรงแรมเก่าที่ยังเปิดให้บรอการอยู่ น้ำพริแม่กิมลั้ง ของฝากตลาดสามชุก ขนมไข่สูตรโบราณเจ้าอร่อย
ไม่เพียงสามร้านที่กล่าวมาว่าต้องไปชิม หากมาถึงตลาดสามชุก ยังมีร้านอาหารคาวหวาน ที่ทำให้คุณไม่อยากอิ่ม หากได้ชิมอีกมากมาย รวมไปถึงชาวชุมชนตลาดสามชุก ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมในต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาชมตลาด จนทำให้คุณไม่อยากกลับเลยก็เป็นได้
รายละเอียดเกี่ยวกับสามชุก ตลาด 100 ปี
ที่ตั้ง : 73 หมู่ 2 ตำบลสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
การเดินทาง สู่ตลาดสามชุก จากกรุงเทพฯ ผ่าน อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ไปจนถึงตัว จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 107 กม. จากนั้นไปตามหลวงหมายเลข 340 แยกเข้า อำเภอสามชุก ตัวตลาดอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณ ติดกับที่ว่าการอำเภอสามชุก
สอบถามรายละเีอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์
โทร. 035-572-449 ,035-504-498