ปัตตานุโมทนามัย... อนุโมทนากับคนที่ทำบุญ เราก็ได้บุญด้วย
บางส่วนจากคำสอนของพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
ผู้ถาม มีคนฝากให่มาถามหลวงพ่อว่า พ่อแม่ไม่ค่อยทำบุญแต่เป็นคนดี คนซื่อ ถ้าบุตรหลานทำให้แล้วจะใส่ชื่อเขาด้วย อยากทราบว่า ท่านจะได้หรือไม่ครับ
หลวงพ่อ เขาโมทนาด้วยหรือเปล่า ถ้าลูกไปบอกว่า "พ่อ(หรือแม่) ฉันทำบุญให้แล้ว ถ้าท่านยินดีด้วย ท่านได้แน่นอน ถ้าบอก กูไม่รูโว้ย ด่าตะเพิด อันนี้ไม่ได้แน่
ผู้ถาม อย่างเวลาเลิกพระกรรมฐานแล้ว ก็มีคนไปถวายสังฆทานกับหลวงพ่อ แต่หนูไม่มีของก็ยกมืออนุโมทนาด้วย อย่างนี้จะมีอานิสงส์ไหมคะ...?
หลวงพ่อ อานิสงส์ที่จะพึงได้ก็คือ ปัตตุนาโมทนามัย เป็นผลกำไรจากการเจริญพระกรรมฐานไม่ต้องลงทุน ถ้าตั้งใจจริงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เจ้าของได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เราได้ครั้งละ 90 ผ่านไป 10 คนเราได้ 900 มากกว่าเจ้าของ เอ้า! เยอะจริงๆ มันทำบารมีให้เต็มเร็ว เร็วมาก
การโมทนา เขาแปลว่า ยินดีด้วย ต้องยินดีด้วยความจริงใจนะ สักแต่ว่า สาธุ มันไม่ได้อะไร คำว่า "สาธุ" ไม่จำเป็นต้องออกเสียง ไม่จำเป็นต้องยกมือไหว้ก็ได้ เอาใจยินดีใช้ได้เลย
และการแสดงความยินดีมันก็คือ มุทิตา เป็นตัวหนึ่งใน พรหมวิหาร 4 นี่บุญตัวใหญ่ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า "จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา" ถ้าก่อนตายจิตผ่องใส ก็ไปสู่สุคติ หมายถึง สวรรค์ ก็ได้ พรหมก็ได้ นิพพานก็ได้ สุดแล้วแต่กำลังใจเรา
และการโมทนานี่ทำให้ชุ่มชื่นใจ ใช่ไหม....เขาทำดีเรายินดีด้วย ยินดีกับความดีของเขา ไม่ช้าเราก็ดีตามเขา เพราะเราเห็นเขาดี เราก็ชอบดีไหม... แต่อย่าไปชอบดีเฉยๆ นะ ต้องทำดีด้วยนะ ทำบุญด้วยตนเองบ้าง
ผู้ถาม หลวงพ่อครับ ปัตตานุโมทนามัย กับ ไวยาวัจจมัย นี่เหมือนกันไหมครับ
หลวงพ่อ ไวยาวัจจมัย เขาแปลว่า ขวนขวายในกิจการงาน เช่น เขาส่งสตางค์มาทำบุญ เราช่วยส่งต่อ หรือพวกที่ช่วยขนสังฆทานนี่ ก็พลอยได้บุญไปด้วย มีอนิสงส์ต่ำกว่าบวรเณรนิดหนึ่ง ไม่เบานะ
แต่ ปัตตานุโมทนามัย ไม่ต้องลงทุน แต่พวกถือมานี่ ยังต้องออกแรงนะ พวกโมทนานี่ไม่ต้องออกแรงเลย แต่อย่าลืมนะเอาแค่โมทนาอย่างเดียวไม่ดีนะ ต้องอาศัยคนต้นตลอด ถ้าไม่ได้อาศัยคนต้นจริงๆ จะสำเร็จมรรถผลไม่ได้ เช่นเดียวกับ พระนางพิมพา ต้องอาศัยพระพุทธเจ้าตลอด
-------------------------------
ผลของบุญนั้นมีความมหัศจรรย์มาก เพราะบุคคลบางคนไม่ได้สละทรัพย์เป็นเจ้าของวัตถุทานและไม่ได้เป็นผู้ถวายทานนั้นด้วยมือ แต่เป็นผู้มีความยินดีเลื่อมใสในการทำบุญของบุคคลอื่น บุคคลนั้นก็จะได้รับผลของบุญประหนึ่งเป็นเจ้าของวัตถุทานหรือเป็นผู้ถวายทานนั้นเอง ดังเช่นผลบุญที่เกิดกับเพื่อนของนางวิสาขามหาอุบาสิกา
ครั้งหนึ่ง พระอนุรุทธะเถระจาริกไปในดาวดึงส์เทวโลก เห็นทิพย์วิมานหลังใหญ่ กว้างยาวและสูง ๑๖ โยชน์ แวดล้อมด้วยอุทยานและสระโบกขรณี ล่องลอยอยู่ในอากาศ แผ่รัศมีไปไกลถึงร้อยโยชน์ เจ้าของวิมานนั้นเป็นเทพธิดาวรรณะงาม มีรัศมีสว่างไปทั่วทุกทิศ มีกลิ่นทิพย์หอมยวนใจฟุ้งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ เมื่อยามเยื้องกรายหรือร่ายรำก็มีเสียงทิพย์อันไพเราะ น่าฟัง น่ารื่นรมย์ใจ เปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ พระอนุรุทธะเถระจึงถามเทพธิดานั้นว่าเธอทำบุญด้วยอะไร ทิพย์สมบัตินี้จึงเกิดขึ้นแก่เธอ
นางเทพธิดาตอบพระเถระว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเป็นเพื่อนของนางวิสาขามหาอุบาสิกา เมื่อเพื่อนของดิฉันสละทรัพย์ถึง ๒๗ โกฏิ สร้างบุพพารามมหาวิหาร เธอชวนดิฉันและสหายอีก ๕๐๐ คน ไปเที่ยวชมปราสาท ดิฉันได้เห็นสมบัติปราสาทที่เธอสร้างถวายพระภิกษุสงฆ์ที่ดิฉันเคารพ ดิฉันเลื่อมใส จึงอนุโมทนาบุญกับเธอว่า สาธุ สาธุ
ด้วยอานิสงส์ของการอนุโมทนาบุญนี้ ทิพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้จึงบังเกิดแก่ดิฉัน
ปัตตานุโมทนามัย อานิสงค์แห่งการโมทนามัย พระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญว่าเป็นความดี หมายความว่า วิธีหรือหลักแห่งการทำบุญในพระพุทธศาสนา เมื่อพูดโดยย่อแล้วมีเพียง 3 อย่าง คือ ทาน ศีล และภาวนา แต่ถ้าขยายความให้กว้างออกไป บุญกิริยาวัตถุมี 10 ประการ 1. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน 2. สีลมัย บุญเกิดากการรักษาศีล 3. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา 4. อปจายนมัย บุญเกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ 5. เวยยาวัจจมัย บุญเกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ 6. ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ 7. ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ 8. ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม 9. ธัมมเทศนามัย บุญเกิดจากการแสดงธรรม 10. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรงกัน การทำบุญในพระพุทธศาสนามี10 อย่างนี้เท่านั้น ไม่ได้มากไปกว่านี้ ถ้านอกไปจากนี้ไม่ใช่บุญในพระพุทธศาสนา ส่วนอานิสงค์ของการอนุโมทนาบุญหรืออนุโมทนาส่วนบุญ จะตรงกับการทำบุญในพระพุทธศาสนาในบุญกิริยาวัตถุ ข้อ ปัตตานุโมทนามัย ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ การอนุโมทนาหรือการยินดีส่วนบุญที่คนอื่นให้ หรือส่วนบุญที่คนอื่นทำ ก็เป็นบุญ | |
การอนุโมทนาในส่วนบุญ ที่ผู้อื่นแบ่งให้ หรือพลอยยินดีด้วยในส่วนบุญที่ผู้อื่นกระทำ ชื่อว่า "ปัตตานุโมทนา"
การอนุโมทนาบุญที่มีผู้แบ่งให้
คาถาธรรมบท พราหมณวรรค เรื่องพระโชติกะเถระ แสดงไว้ว่า กฎุมพีสองพี่น้อง ในกรุงพาราณาสี ทำไร่อ้อยไว้เป็นอันมาก วันหนึ่งกฎุมพีผู้น้องไปไร่อ้อย ถือเอาอ้อยมาสองลำคิดจะให้พี่ชายด้วย ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็มีจิตเลื่อมใสได้ถวายอ้อยในส่วนของตนลงในบาตร ตั้งความปรารถนาว่า "ด้วยผลแห่งรส (อ้อย) อันเลิศนี้ ข้าพเจ้าพึงได้เสวยสมบัติในเทวโลก และมนุษยโลก ในที่สุดพึงบรรลุธรรมที่ท่านบรรลุแล้วนั่นแล"
เมื่อท่านฉันแล้ว เขาจึงได้ถวายอ้อย ส่วนที่สอง อันเป็นส่วนของพี่ชายลงในบาตรอีก ด้วยคิดว่า เราจักให้มูลค่าหรือส่วนบุญแก่พี่ชาย พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้ว เหาะไปสู่ภูเขาคันธมาทน์ ถวายน้ำอ้อยนั้นแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าอีก ๕๐๐ องค์ที่ภูเขานั้น กฎุมพีผู้น้องเห็นเหตุการณ์นั้นเกิดปีติ กลับไปเล่าให้พี่ชายฟัง ถึงเหตุนั้น ถามพี่ชายว่า "พี่จักรับเอามูลค่าอ้อยนั้น หรือจักรับเอาส่วนบุญ" พี่ชายมีจิตเลื่อมใส ไม่รับเอามูลค่า ขออนุโมทนาส่วนบุญจากกกฎุมพีผู้น้องด้วยใจโสมนัส ตั้งความปรารถนาว่า "ขอเราพึงได้บรรลุธรรมที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเห็นนั้นเถิด"
นี่คือตัวอย่างของการที่มีผู้แบ่งบุญให้ที่ชื่อว่า "ปัตตานุโมทนา"
การพลอยยินดีด้วยในบุญที่ผู้อื่นกระทำ
ในขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ความย่อมีว่า พระอนุรุทธะถามนางเทพธิดาว่า "ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เหมือนดาวประกายพรึก เมื่อท่านฟ้อนอยู่ เสียงอันเป็นทิพย์น่าฟังรื่นรมย์ใจ ย่อมเปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน ทั้งกลิ่นทิพย์อันหอมหวลก็ฟุ้งออกจากกายทุกส่วน เสียงของเครื่องประดับ ช้องผมที่ถูดรำเพยพัดก็กังวานไพเราะดุจเสียงดนตรี แม้พวงมาลัยบนเศียรเกล้าของท่าน ก็มีกลิ่นหอมชวนเบิกบานใจ หอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ดูกร นางเทพธิดา อาตมาขอถามว่า นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร"
นางเทพธิดาตอบว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้า นางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้สหายของดิฉัน ที่อยู่ในเมืองสาวัตถี ได้สร้างวิหารถวายสงฆ์ ดิฉันได้เห็นวิหารนั้น มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาพลอยยินดีด้วยในบุญนั้นของนาง ก็วิมานและสมบัติทุกอย่างที่ดิฉันได้แล้วนี้ เพราะการพลอยยินดีโมทนาบุญของสหายนั้น ด้วยจิตอันบริสุทธิ์อย่างเดียวเท่านั้น"
จากพระสูตรนี้จะเห็นได้ว่า เพียงจิตเลื่อมใสอนุโมทนาในบุญที่ผู้อื่นที่ได้กระทำแล้ว ยังให้ผลเห็นปานนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีใครบอกบุญให้ก็อนุโมทนาเช่น เห็นคนกำลังใส่บาตร มีจิตยินดีอนุโมทนาด้วยในบุญนั้น ก็นับเป็นบุญที่ชื่อว่า "ปัตตานุโมทนา"
ปัตติทานมัย
ปัตติทาน เเปลว่า การให้ส่วนบุญ การให้ส่วนความดี หมายถึงเมื่อเราทำบุญ เช่น ใส่บาตร ถวายสังฆทาน สร้างโบสถ์ รักษาศีล เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเเล้วบอกให้ผู้อื่นทราบด้วย เพื่อให้เขารู้ว่าเราทำบุญความดีอะไรมา เพื่อเขาจะได้พลอยชื่นชมยินดีในบุญนั้นเเล้วปรารถนาทำบุญเช่นที่เราทำบ้าง การให้ส่วนบุญจัดเป็นทานอย่างหนึ่ง ผู้ให้ก็ได้บุญ ผู้พลอยชื่นชมยินดีก็ได้บุญ
ปัตติทาน เป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า ปัตติทานมัย เเปลว่า บุญที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ หมายถึง บุญที่เกิดจากการเเบ่งส่วนบุญให้ หรือบุญที่ทำเเล้วอุทิศผลบุญให้
ปัตติทานมัย เป็นเหตุให้กำจัดมัจฉริยะคือ ความตระหนี่หวงเเหนบุญความดีอันเป็นมลทินใจได้ ทำให้ได้บุญเพิ่มขึ้น ทำให้มีพวกพ้องบริวารมาก
ปัตตานุโมทนามัย
ปัตตานุโมทนา เเปลว่า การอนุโมทนาส่วนบุญ คือความพลอยชื่นชมยินดีส่วนบุญที่คนอื่นทำเเล้วมาบอกให้ทราบ หรือเขาไม่บอก เเต่เมื่อทราบเข้าก็เกิดมุทิตามีจิตยินดีด้วย ปราศจากความอิจฉาริษยาในบุญหรือความดีของเขา เเละพร้อมเสมอที่จะปฏิบัติหรือทำบุญอย่างเขาบ้างเมื่อมีโอกาส
ปัตตานุโมทนา เป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย เเปลว่า บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ หมายถึง บุญที่เกิดจากการอนุโมทนาในบุญในความดีที่คนอื่นทำ
ปัตตานุโมทนามัย เป็นเหตุให้มีความสุขใจ ไม่ร้อนใจเพราะไฟริษยา ได้รับความสนิทสนมกับผู้ให้ส่วนบุญ เเละเป็นเหตุให้ตนปรารถนาทำบุญความดีเช่นเขาบ้าง เมื่อตัวเองได้ทำเเล้วก็จะได้รับผลเป็นความสุขยิ่งขึ้นไป